ลมเปลี่ยนทิศ แต่พันธกิจของกนกฯ ไม่เปลี่ยนไป

ด้วยความที่ดิฉันเป็นคนต่างจังหวัด เกิดในยุค Baby Boomer ตอนปลาย (เขาให้คำจำกัดความว่าเป็นยุคหลังสงครามโลก ทั้งที่ชีวิตไม่เคยเฉียดสงครามเลย จำได้ว่ามีสงครามเวียดนาม แต่ก็รู้สึกว่าไกลตัวเรา) เมื่อได้เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จะติดต่อกับทางบ้านแต่ละครั้ง ช่องทางที่ดี สะดวก และถูกที่สุดคือการเขียนจดหมาย แต่หากมีเรื่องด่วนจริงๆ (ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงิน) ก็จะโทรไปที่ร้านขายของข้างๆ บ้าน บอกว่าจะโทรกลับในอีกสิบนาที รบกวนให้ไปตามคนที่บ้านมารับสาย และนั่นหมายถึงค่าโทรศัพท์ทางไกลที่ดิฉันต้องจ่ายแพงมาก และทางฝั่งผู้รับก็ต้องเสียค่าบริการให้กับทางร้านค้าผู้ให้บริการด้วย เวลาผ่านไปเกือบสิบปี ที่บ้านเริ่มติดตั้งโทรศัพท์ และดิฉันเริ่มใช้โทรศัพท์สาธารณะติดต่อหาที่บ้าน การเขียนจดหมายถึงกันก็ลดลง ปัจจุบันการสื่อสารกับที่บ้านต่างจังหวัดยิ่งสะดวกมากขึ้น เพราะเราต่างมีโทรศัพท์มือถือใช้ นอกจากพูดคุยกันแล้ว ยังสามารถส่งรูปภาพถึงกันได้อีกด้วย และหากอยากเห็นหน้าคนที่คุยด้วยก็เปิดวิดีโอคุยกันได้ โลกเปลี่ยนไปมาก แต่การสื่อสารยังคงอยู่


ตอนดิฉันเริ่มทำงานใหม่ๆ เป็นยุคของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี จากพิมพ์ดีดธรรมดาเป็นพิมพ์ดีดไฟฟ้า ต่อมากลายเป็นคอมพิวเตอร์ จากเครื่องเทเล็กซ์ กลายเป็นเครื่องแฟกซ์ ตอนนั้นจำได้ว่าตื่นเต้นมากกับเครื่องส่งแฟกซ์ที่สามารถถ่ายรูปทางนี้และไปขึ้นปลายทางได้เหมือนต้นฉบับ เวลานั้นเพื่อนๆ หลายคนกลัวการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ดิฉันกลับตื่นเต้นกับเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ เพราะทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็ว ทันใจ และใช้เวลาที่น้อยลง เมื่อก่อนพิมพ์จดหมายหนึ่งฉบับต้องอ่านทาน หากจะแก้ไขก็ต้องพิมพ์ใหม่เสียเวลามาก เดี๋ยวนี้ทำงานในคอมพิวเตอร์ แก้ไขก็ง่าย มีระบบตรวจสอบคำผิดให้อีก จากเครื่องแฟกซ์ที่เคยตื่นเต้น เดี๋ยวนี้มีสำนักงานไม่กี่แห่งที่ยังคงใช้อยู่ เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งส่งแฟกซ์ ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พิมพ์งาน ทำรายงาน ใช้เก็บข้อมูลเอกสาร วาดรูป จนดิฉันแทบเรียนรู้วิธีการใช้งานของแต่ละโปรแกรมไม่ทัน


ดิฉันเดินผ่านยุค 1G เข้าสู่ยุค 5G ดิฉันพบว่าวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีพัฒนาไปรวดเร็วมาก และ มีผลต่อการดำเนินชีวิต การสร้างแนวคิดมุมมองของคนรุ่นใหม่ และการบริหารงานยุคใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยคือ มนุษย์ต้องสื่อสารกัน เพราะการสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในครอบครัว ในโรงเรียน ในธุรกิจการงาน หรือในสังคมทั่วไป หากไม่มีการสื่อสารโลกคงวุ่นวายมาก เพราะไม่สามารถสื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ ความจริงคือ “สาร” ที่ต้องการสื่อยังคงอยู่ แต่ “สื่อ” ซึ่งเป็นช่องทางในการส่ง “สาร” นั้นพัฒนาไป


กนกบรรณสารก็เช่นเดียวกัน เราเริ่มทำพันธกิจภายใต้ชื่อกนกบรรณสารในปี 1970 เรียกว่าเกิดในช่วงปลายของยุค Baby Boomer นับเป็นสำนักพิมพ์ที่อยู่เคียงข้างคริสตชนมายาวนานหลายยุค จนปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ Generation Z (หมายถึงคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป) พันธกิจหลักของกนกฯ ตลอดมาคือ การผลิตและจำหน่ายวรรณกรรมคริสเตียนและสื่อเพื่อการประกาศเพื่อเสริมสร้างคริสตชน คริสตจักร รวมถึงผู้สนใจทั่วไป เกือบ 50 ปี เราสื่อสารวรรณกรรมเหล่านี้ในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือเล่มที่จับต้องได้ มีหลายคนถามว่าทำไมกนกฯ ไม่ทำ E-Book บ้าง เพราะโลกเปลี่ยนไปเป็นระบบ “ดิจิทัล” แล้ว คนอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น กนกฯ จะตอบสนองคนรุ่นใหม่อย่างไร เราขอน้อมรับคำแนะนำเหล่านี้ไว้ด้วยใจขอบพระคุณ เพราะคำถามเหล่านี้ทำให้เราต้องศึกษาความต้องการและรูปแบบการอ่านของพี่น้องมากขึ้น และเราพบว่าคนไทยมักจะอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปของบทความสั้นๆ บทวิเคราะห์ หรืออ่านข่าวที่ไม่ยาวมาก เพราะโดยธรรมชาติคนไทยชอบอ่านอะไรสั้นๆ อยู่แล้ว ส่วนหนังสือขนาดร้อยหน้าขึ้นไปนั้นมีอ่านบ้างแต่ไม่มากนัก คนส่วนใหญ่ยังพึงพอใจกับหนังสือเล่ม ที่ยังคงมีเสน่ห์ในการจับต้อง ในการเปิดอ่าน ในการจดบันทึก การขีดเส้น หรือแม้แต่การเปิดกลับมาค้นหาข้อความที่เราประทับใจ เมื่อไม่นานมานี้ในสหรัฐอเมริกามีผลการวิจัยออกมาว่า นักศึกษานิยมอ่าน Text Book จากหนังสือมากกว่าอ่านจาก E-Book และแม้ดูเหมือนว่า E-Book จะมีบทบาทในโลกปัจจุบันมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถทดแทนพื้นที่ของหนังสือเล่มได้ หนังสือเล่มยังคงครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของผู้อ่านอยู่


ทว่าสิ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเร็วกว่าหนังสือก็คือ วารสารหรือนิตยสาร ไม่ว่าจะรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ฯลฯ ที่ถูกทดแทนด้วย Digital Magazine และ E-Magazine นิตยสารหลายปกต้องหยุดผลิต หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนจากรูปแบบกระดาษมาเป็นดิจิทัลหรืออิเล็กทรอนิกส์ กนกบรรณสารเองก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากกนกฯ ได้ผลิตวารสาร “เพื่อนนักอ่าน” ซึ่งเป็นวารสารรายสามเดือนมาตั้งแต่ปี 1986 (ชื่อเดิมคือ “ข่าวกนก”) เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับพี่น้องด้วยบทความหนุนใจ การประชาสัมพันธ์หนังสือใหม่ และแจ้งข่าวโครงการต่างๆ โดยแต่ละไตรมาสเราส่งวารสารออกไปกว่าสองพันฉบับ ถึงวันนี้เราพบว่าการตอบสนองต่อแผ่นพับมีจำนวนลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันเราพบว่าช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียนั้นมีมากมาย หลากหลาย และถึงผู้รับข่าวสารได้กว้างขวาง โดยมีต้นทุนในการสื่อสารต่ำกว่าการส่งแผ่นพับมาก นอกจากนี้เรายังได้ทำแบบสำรวจพบว่าพี่น้องคริสเตียนสื่อสารกับเราผ่าน Facebook และ Line มากที่สุด ดังนั้นเราจึงพิจารณาว่า เรายังคงปรารถนาที่จะส่ง “สาร” ให้กับพี่น้อง แต่เราขอเปลี่ยนช่องทางในการ “สื่อ” จากกระดาษแผ่นพับพิมพ์สี่สี มาเป็นช่องทางในโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งพี่น้องสามารถติดตามข่าวสารของกนกบรรณสารผ่านช่องทางเหล่านี้


Website: www.kanokbannasan.org
Facebook: กนกบรรณสาร (OMF Publishers)
Line ID: Kanokbannasan
Email: orders@kanokbannasan.org หรือ info@kanokbannasan.org


กนกบรรณสารจึงขอเรียนมายังพี่น้องทุกท่านว่า ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป เราได้งดการผลิตและจัดส่งวารสารเพื่อนนักอ่าน แต่เรายังคงพูดคุยกับท่านด้วยบทความดีๆ แนะนำหนังสือใหม่และโครงการต่างๆ ของกนกฯ ผ่านช่องทางที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


กนกบรรณสารยังคงมุ่งมั่นที่จะผลิตวรรณกรรมที่มีคุณภาพเพื่อเสริมสร้างชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณให้คริสตชนและคริสตจักร รวมทั้งจัดทำสื่อเพื่อการประกาศที่เหมาะสมกับคนไทยและวัฒนธรรมไทย เราปรารถนาที่จะเป็นสำนักพิมพ์ที่อยู่เคียงข้างคริสตจักรและคริสตชนตลอดไป วันนี้เรายังคงผลิตวรรณกรรมในรูปแบบหนังสือเล่ม และกำลังพัฒนาบางเล่มในรูปแบบดิจิทัล และหนังสือเสียง แม้วันนี้ลมจะเปลี่ยนทิศ แต่พันธกิจของกนกฯ ไม่เปลี่ยนไป เพราะว่า “สาร” ที่เราต้องการส่งยังคงอยู่ แต่ว่า “สื่อ” ที่เราใช้ในการประชาสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปเพื่อรับใช้พี่น้องให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น


ขอพี่น้องเป็นกำลังใจและร่วมรับใช้กับเรานะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *